|
- เป็นเพราะคำอธิฐานของดิฉันที่ทำให้เจ้ากรรมนายเวรรีบมาทวงคืน หรือเปล่าคะ
เรื่องนี้คงไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่าใช่หรือไม่นะคะ แต่โดยปกติแล้ว ถึงเราไม่อธิษฐาน เจ้ากรรมนายเวร เขาก็ตามมาทวงคืนกับเราอยู่แล้วค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น จะเป็นภายในภพชาตินี้ หรือภพชาติต่อ ๆ ไป ยังไงเขามาแน่ เพราะใครทำกรรมใดไว้ ย่อมหนีไม่พ้น คนที่จะเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันได้ เขาต้องมีความคับแค้นใจ ความโกรธ ความอาฆาตในระดับที่ต้องการตามจองเวรกับเรา (ผู้กระทำ) ถ้านึกภาพตามง่าย ๆ ก็คงเหมือนเราไปท้าคนที่กำลังโกรธ ให้เข้ามาทำร้ายเรา ซึ่งคนพวกนี้ก็มีความโมโหเป็นทุนเดิม พร้อมที่จะพุ่งทะยานระบายความไม่พอใจนั้นอยู่แล้ว หากถามว่าจำเป็นต้องไปเร่งวันเร่งคืนเจ้ากรรมนายเวรให้มาเจอเราไหม อันนี้พูดได้เลยว่า ไม่มีความจำเป็นเลยค่ะ
- ก่อนที่จะตรวจเจอมะเร็งอันใหม่ล่าสุด ดิฉันตั้งใจจะไปบริจาคเลือด แต่พอตรวจเจอทำให้บริจาคเลือดไม่ได้ ดิฉันก็พูดกับเจ้ากรรมนายเวรว่า ทำให้ดิฉันไม่ได้ทำบุญ เขาจะมีเวรมีกรรมกับดิฉันต่อเนื่องไปเรื่อยๆหรือเปล่าคะ เพราะดิฉันรู้สึกเหมือนเขาทำให้เราไม่ได้บริจาคเลือด
ดิฉันมีปัญญาธรรมน้อยนิด เป็นคนห่างวัด เพราะเคยเจอพระที่ทำตัวไม่ใช่พระ เลยไม่อยากเข้าวัด ตอนนี้อยากเข้าวัดแต่ก็หาโอกาสยากเหลือเกินเพราะอยู่ต่างประเทศ อยากตรวจกรรมเหมือนกันแต่ก็ไม่รู้จะได้กลับไปเมื่อไหร่ ตอนนี้ก็ทำได้แค่สำนึกในกรรมทำเคยทำมา (ตั้งแต่ชาติไหนก็จำไม่ได้แล้ว) แล้วก็ชดใช้เขาไปน่ะค่ะ
การทำบุญมีหลายประเภท การที่เราต้องการทำบุญอย่างหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำได้ ด้วยติดขัดปัญหาต่าง ๆ หากมองในอีกมุมหนึ่ง คือ การทดสอบความตั้งมั่นของผู้กระทำ โดยเราจะเรียกสิ่งที่มาทดสอบนี้ กันแบบง่าย ๆ ว่า มันคือ "มาร" รูปแบบหนึ่ง คนเรานั้น มีจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว หากจิตเราพึงคิดว่า เพราะเจ้ากรรมนายเวรทำให้เราไม่ได้ไปทำบุญดังที่ตั้งใจ นั่นก็เท่ากับว่า จิตเราคิดแค้นเคือง แทนที่การตั้งใจทำบุญของเราจะได้บุญ กลับกลายเป็นได้บาปจากความโกรธและได้สืบเนื่องความแค้น ด้วยการสานต่อความเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันไม่จบสิ้น ซึ่งมีคำกล่าวที่ว่า
"เวร ย่อมระงับ ด้วยการไม่จองเวร"
คำ ๆ นี้มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าเท่าที่เห็นค่ะ หากตามความเข้าใจส่วนตัวแล้ว (สมมุติว่า) มีคนมาทำร้ายเรา เราอาจจะพอมีทางเลือกอยู่ 3 ทาง
1. ปล่อยวาง
2. โกรธแค้นอยู่ในใจ แต่ทำร้ายเขากลับไม่ได้ ได้แต่ก่นด่า สาปแช่งคน ๆ นั้น ทุกครั้งที่นึกขึ้นได้
3. ทำร้ายเขากลับคืนในทันที หรือรอจังหวะที่จะเอาคืนเมื่อสบโอกาส
การปล่อยวางนั้น มิใช่ความขี้ขลาด เพราะหากเป็นคนที่ขลาดกลัวและไม่ปล่อยวาง เขาจะทำพฤติกรรมในแบบข้อ 2 แต่การปล่อยวางคือ การยอมรับในผลแห่งกรรมนั้น และไม่คิดเคืองแค้น โดยเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ไม่มีเรื่องใดเป็นเรื่องบังเอิญ การที่เราถูกทำร้าย นั่นอาจจะเป็นเพราะภพชาติหนึ่ง เราเคยไปทำร้ายเขามาก่อน ซึ่งหากเราอยากยุติการจองเวรกันนี้ สิ่งที่ควรทำคือ การอโหสิกรรมค่ะ อย่างง่ายคือ ให้เราคิดเสียว่า หากข้าพเจ้าเคยกระทำกรรมกับผู้ใดไว้ ให้เขาได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย แบบที่ข้าพเจ้าประสบพบเจออยู่นี้ บัดนี้ข้าพเจ้าสำนึกแล้ว และขออธิษฐานตัดกรรมเก่านั้น ให้ขาดจากกัน โดยฉับพลันทันใด เป็นต้น ซึ่งหากเราคิดได้เช่นนี้ 1. เราจะสบายใจที่ไม่ต้องมานั่งคิดนั่งแค้นกับสิ่งที่เราหาสาเหตุไม่ได้ 2. เท่ากับว่าเรายอมรับในกรรมที่เราเคยกระทำในภพหนึ่งชาติใด ในอดีต หรือในปัจจุบัน ที่อาจจะถูกลืมเลือนไปแล้ว 3. เมื่อเราได้ชดใช้กรรมนั้นแล้ว ก็อธิษฐานขอให้กรรมนั้นขาดจากกัน ให้หมดสิ้นกันไปในทันที
ดังนั้น หากเราคิดและโทษว่าเพราะเจ้ากรรมนายเวรทำให้เราป่วย ทำให้เราบริจาคเลือดไม่ได้ ก็เท่ากับว่าเราได้สืบสานความเป็นเจ้ากรรมและนายเวร สืบต่อกันไปอีกไม่จบไม่สิ้นค่ะ
การทำบุญเราไม่จำเป็นต้องเข้าวัดก็ได้ เพราะการสวดมนต์ นั่งสมาธิ การถือศีล 5 การเป็นผู้ไม่โกรธ การฟังธรรมะออนไลน์ ฯลฯ ก็เป็นการสร้างกุศลแล้วค่ะ เราสามารถทำได้แม้อยู่กับบ้าน ไม่ต้องเดินทางไปที่ไหนเลย อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่แค่นั้น
ในส่วนของพระสงฆ์นั้น ให้คิดเสียว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน หากเราตำหนิผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา หรือแม้แต่ทางใจที่แอบคิดไปแวบเดียว ก็เท่ากับว่าเราได้สร้างกรรมขึ้นมาแล้ว ถึงแม้ว่าผู้ที่เราตำหนิ เขาจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือผิดจารีต ผิลศีลจริง เราก็ไม่ควรเอาตัวเราเข้าไปให้มัวหมองในสิ่งที่เราไม่ได้ก่อค่ะ เรื่องกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่นิดก็ไม่ได้ หน่อยก็ไม่ได้ แต่หากค่อย ๆ ศึกษา เราจะพบถึงเหตุและผลของมัน เพราะศาสนาพุทธ มิได้สอนให้คนเชื่อ โดยปราศจากปัญญา เราต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และนำไปลองปฏิบัติดู รวมทั้งการทำสมาธินั้น จะช่วยทำให้เราเป็นคนมีสติมากขึ้น เมื่อสติมา ปัญญาจะเกิด หากเจอปัญหาสิ่งใดในชีวิต เราก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้ ด้วยสติปัญญาและหลักธรรมคำสั่งสอน
การสำนึกกรรมนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ ซึ่งจะมีก็แต่เพียงตัวเราและเจ้ากรรมนายเวรที่รับรู้ ว่าเรารู้สึกสำนึกแล้วจริง ๆ และไม่ควรก่อกรรมเพิ่ม
มนุษย์ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่วิเศษอย่างหนึ่ง คือ เราสามารถสร้างบุญได้ (แต่ในขณะเดียวกัน ก็สร้างบาปได้เช่นกัน) การที่ทุกคนเกิด เพื่อชดใช้กรรม และเพื่อเสวยบุญที่เคยกระทำมา ให้เราสังเกตตัวเองว่า ชาตินี้ เราติดขัดในเรื่องอะไร ซึ่งก็จะสามารถอนุมานได้ว่า เพราะเราทำกรรมดีในด้านนั้นมาน้อย เช่น หากชาตินี้เป็นผู้มีหนี้สิน นั่นหมายความว่า ชาติก่อนเราอาจจะหย่อนด้านการทำทาน หากชาตินี้เราโดนอิจฉาริษยาอยู่เป็นประจำ ชาติก่อนเราอาจจะมีจิตที่คิดไม่ดี คิดริษยาผู้อื่นมาก่อน ทำให้ชาตินี้เราต้องมาได้รับผลกรรมเช่นเดียวกัน เป็นต้น
|
|