|
การรักษากระดูกข้อเข่าเสื่อม
1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดน้ำหนักตัว, การลดการยืนเดินที่ไม่จำเป็น, ถ้าต้องการออกกำลังกาย ควรขี่จักรยานไฟฟ้าอยู่ในบ้าน
2.การใช้เครื่องช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า 1ขา, ไม้เท้า 3 ขา, walker 4 ขา
3.การรับประทานยาแก้ปวด ซึ่งมีหลายชนิด เช่น
3.1 ARCOXIA 90 มิลลิกรัม ทานวันละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า
ข้อดี คือ แก้ปวดได้ดี ระคายเคืองกระเพาะน้อย
ข้อเสีย คือ อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจทำให้เกิดอาการบวม การรับประทานต่อเนื่องนานๆ ไตจะเสื่อมได้เร็วกว่ายาตัวอื่น
3.2 CELEBREX 400 มิลลิกรัม ทานวันละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า หรือ 200 มิลลิกรัม 1 เม็ดเช้า-เย็น ข้อดี คือ แก้ปวดรองจาก Arcoxia แต่ทานต่อเนื่องได้นานกว่าและระคายเคืองกระเพาะน้อย
ข้อเสีย คือ ห้ามรับประทานในผู้ป่วยที่แพ้ยาซัลฟา
3.1 และ 3.2 ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีโรคหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจอยู่
3.3 ยาแก้ปวดตัวอื่นๆ เช่น MOBIC, VOLTAREN, PONSTAN, BRUFEN
ข้อดี ไม่มีปัญหากับโรคหลอดเลือดตีบตัน
ข้อเสีย ระคายเคืองกระเพาะอาหารมากกว่า
ยาแก้ปวดทั้งหมดนี้ ไม่ควรทานต่อเนื่องนานๆ เพราะจะทำให้ไตวายได้
ยาที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์กระดูกโดยเฉพาะครับ
3.4 ยาบำรุงไขข้อ เช่น VIATRIL-S ช่วยทุเลาอาการปวดได้ในผู้ป่วยบางราย เช่นข้อยังเสื่อมไม่มาก แต่แพทย์บางท่านไม่เชื่อว่าได้ผล เป็นเพราะผลทางจิตใจมากกว่า
4. ทำกายภาพบำบัด ช่วยทุเลาอาการปวด เช่น ประคบร้อน ใช้คลื่นอัลตร้าซาวน์
5. การฉีดน้ำวุ้นไขข้อเทียมเข้าข้อ เพื่อช่วยหล่อลื่นข้อเข่า
ข้อดี ช่วยยึดอายุการใช้งานข้อเข่าออกไปได้อีกระยะหนึ่ง ช่วยลดการทานยาแก้ปวด
ข้อเสีย ยามีราคาค่อนข้างแพง ขณะฉีดยาเข้าข้อจะมีความเจ็บปวดพอสมควร ยามีฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 1 ปี เมื่อเริ่มปวดอีกต้องฉีดยาใหม่
6. การผ่าตัดจัดกระดูกข้อเข่าให้ตรงขึ้น เป็นการตัดต่อกระดูกที่โก่งให้ตรงขึ้น
ข้อดี ยืดอายุการใช้งานข้อเข่าออกไปก่อนการเปลี่ยนข้อเทียม
ข้อเสีย เป็นการทำให้กระดูกหักแล้วใส่เหล็กยึดตรึงกระดูก ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้หลายเดือน
7. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการตัดผิวข้อที่เสื่อมออกไป แทนที่ด้วยเหล็กและสารสังเคราะห์
ข้อดี หลังผ่าตัดสามารถเดินได้เร็วถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ข้อเสีย ทุกการผ่าตัดมีความเสี่ยง ขึ้นกับความแข็งแรงของผู้ป่วย หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องทำกายภาพบำบัดช่วงระยะเวลาหนึ่ง |
|